วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก ( ตอนที่๒ ) 


ความสำคัญและคุณค่าของพระไตรปิฎก  
      พระไตรปิฎกมีความสำคัญและคุณค่าสำคัญหลายประการ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ๒๕๔๓: ๖๘๗๑) ได้แก่ ดังนี้   
      ๑. พระไตรปิฎกเป็นที่รวมไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ อันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสไว้เอง ซึ่งตกทอดมาถึงสมัยพวกเรา ทำให้เรารู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ 
      ๒. พระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เราจะเฝ้าหรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระดำรัสของพระองค์ที่ท่านรักษากันไว้ในพระไตรปิฎก         
      ๓. พระไตรปิฎกเป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอน คำอธิบาย คัมภีร์ หนังสือ ตำรา ที่อาจารย์และนักปราชญ์ทั้งหลายพูด กล่าวหรือเรียบเรียงไว้ที่จัดว่าเป็นของในพระพุทธศาสนา จะต้องสืบขยายออกมาและเป็นไปตามคำสอนแม่บทในพระไตรปิฎก ที่เป็นฐานหรือเป็นแหล่งต้นเดิม 
      ๔. พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิงในการแสดงหรือยืนยันหลักการที่กล่าวว่า เป็นพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่า เป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นสุดท้ายสูงสุด
      ๕. พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนหรือคำกล่าวใด ๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก (แม้แต่คำหรือข้อความในพระไตรปิฎกเอง ถ้าส่วนใดถูกสงสัยว่าจะแปลกปลอม ก็ตรวจสอบด้วยคำสอนทั่วไปในพระไตรปิฎก)    
      ๖. พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฎิบัติในพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือหรือข้อปฏิบัติตลอดจนพฤติกรรมใด ๆ จะวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือผิดพลาดเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน
      ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงเป็นกิจสำคัญยิ่งของชาวพุทธ ถือว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือเป็นความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนากล่าวคือ ถ้ายังมีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ แต่ถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก แม้จะมีการปฏิบัติก็จะไม่เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็จะไม่ดำรงอยู่คือจะเสื่อมสูญไป        
      นอกจากความสำคัญในทางพระพุทธศาสนาโดยตรงแล้วพระไตรปิฎกยังมีคุณค่าที่สำคัญในด้านอื่น ๆ อีกมาก โดยเฉพาะ     
      ๑. เป็นที่บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับลัทธิ ความเชื่อถือ ศาสนา ปรัชญา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม เรื่องราว เหตุการณ์ และถิ่นฐาน เช่น แว่นแคว้นต่าง ๆ ในยุคอดีตไว้เป็นอันมาก
      ๒. เป็นแหล่งที่จะสืบค้นแนวความคิดที่สัมพันธ์กับวิชาการต่าง ๆ เนื่องจากคำสอนในพระธรรมวินัยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวโยง หรือครอบคลุมถึงวิชาการหลายอย่าง เช่น จิตวิทยา กฎหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ เป็นต้น     
      ๓. เป็นแหล่งเดิมของคำศัพท์บาลีที่นำมาใช้ในภาษาไทย เนื่องจากภาษาบาลีเป็นรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งของภาษาไทย การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงมีอุปการะพิเศษแก่การศึกษาภาษาไทย
      รวมความว่า การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมีคุณค่าสำคัญ ไม่เฉพาะแต่ในการศึกษาพระพุทธศาสนาเท่านั้นแต่อำนวยประโยชน์ทางวิชาการในด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น ภาษาไทย ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา โบราณคดี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา และจิตวิทยา เป็นต้น


ดร.ประมูล สารพันธ์       

สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ 


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น