วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก (ตอนที่๑)




นิยามและองค์ประกอบของพระไตรปิฎก        
        พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนา คำว่า ไตรปิฎกตามรูปศัพท์ มาจากภาษาบาลีว่า “ติปิฏกํหรือ เตปิฎกํ” แยกออกเป็น ๒ ศัพท์ คือ ไตร หรือ ติ (แปลว่า สาม) + ปิฏก (ปิฎก แปลว่า ตะกร้า) เมื่อรวมความแล้ว ไตรปิฎกแปลว่า ปิฎกสาม แต่โดยนัยอรรถาธิบายแล้ว พระที่มีความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนาหรือพระอรรถกถาจารย์ ได้ให้ความหมายของ พระไตรปิฎกไว้ ๒ นัย คือ    
         ๑) ปิฎก หมายถึง คัมภีร์ หรือตำรา ดังบาลีว่า มา ปิฎก-สมฺปทาเนนฯ แปลว่า อย่าเชื่อโดยการอ้างตำรา   
         ๒) ปิฎก หมายถึง ภาชนะ (เช่น ตะกร้า) ดังประโยคบาลีว่า อถ ปุริโส อาคจฺเฉยฺย กุทฺทลปิฎกมาทายฯ ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งถือจอบและตะกร้าเดินมา ดังนั้น คำว่า พระไตปิฎก ในที่นี้ จึงหมายถึง “คัมภีร์หรือตำราที่บรรจุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า (และพระสาวกองค์สำคัญ) ไว้เป็นหมวดหมู่ ดุจดังภาชนะรองรับสิ่งของต่าง ๆ ให้สวยงาม” 

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก     
        ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันปรินิพพานพระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดให้เป็นศาสดาสืบต่อจากพระองค์ นอกจากจะทรงประทานพุทธพจน์ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ไว้ว่า พระธรรมและวินัยที่มีเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว นี่แสดงว่าในสมัยพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้นยังไม่มีพระไตรปิฎกบันทึกคำสอน 
      ดังที่เราทราบกันอยู่ในปัจจุบัน พุทธวจนะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกกันในสมัยนั้น ๒ อย่าง (เสฐียรพงฆ์ วรรณปก,๒๕๔๓:๔) คือ        
        ๑. เรียก พฺรหฺมจริย (พรหมจรรย์) ดังพุทธวจน์ที่ตรัสเมื่อครั้งทรงส่งพระอรหันตสาวก ๖๐ รูป ไปเผยแผ่พระศาสนาครั้งแรกว่า         
         จรถ ภิกฺขเว, จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย, อตฺถาย หิตาย สุขาย, เทวมนุสฺสานํ เทเสตุ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพ?ชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสสิฯ     
        ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง             
        ๒. เรียกว่า ธมฺมวินเย (ธรรมวินัย) ดังพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ พุทธอนุชา ก่อนเสด็จดับขันฐปรินิพพานว่า 
        โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ป??ตฺโต. โส โว มมจฺจเยนฯ  
        ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่ตถาคตแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว    
        ที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการแบ่งพระพุทธวจนะไว้เป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน ยังไม่มีคำว่า พระไตรปิฏกหากแต่เรียกว่า                   
       “ธรรมวินัยการจัดหลักธรรมคำสอนเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระบบหมวดหมู่ที่เรียกว่า การทำสังคายนานั้น เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรก สมัยหลังพุทธปรินิพพานได้ประมาณ ๓ เดือน ที่เมืองปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย ซึ่งสมัยต่อมาก็ได้มีการทำสังคายนาขึ้นนอกประเทศอินเดียติดต่อกันมาประมาณ ๕ ครั้ง  
       พระพุทธวจนะแต่เดิมใช้วิธีการสืบทอดด้วยการท่องบ่นสาธยาย ต่อมาหลังการทำสังคายนาแล้วได้รับการจารึกหรือจารเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรคเมื่อประมาณ พ.ศ. ที่ประเทศศรีลังกา การกระทำสังคายนาที่ถือกันว่ามีผลทำให้เกิดคำเรียกการประมวลหลักพระธรรมวินัยว่า พระไตรปิฎกเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น มีผู้รู้ได้แสดงทัศนะที่น่าสนใจหลายประการ เช่น

พระเมธีรัตนดิลก (๒๕๓๕ : ๙) ได้ให้ข้อสังเกตว่า
      การสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ นี้มีเรื่องปรากฎในคัมภีร์จุลวรรคแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งนักปราชญ์สันนิษฐานว่า คงใส่เพิ่มเข้าไว้เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๓ อนึ่ง ในหนังสือชั้นคัมภีร์บาลีพระไตรปิฎก ในสังคายนาครั้งที่ ๑ และ ๒ ไม่มีคำว่า ปิฎกเลย ใช้คำว่าสังคายนาพระธรรมวินัย หรือ วินัยวิสัชนา ธรรมวิสัชนา แต่มีคำอธิบายรายละเอียดในสมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก

ซึ่งสอดคล้องกับ เสฐียรพงษ์ วรรณปก (๒๕๔๓ :๙-๓๑) ที่กล่าวว่า    
       “ถ้าอ่านประวัติการทำสังคายนาตั้งแต่ต้นจะสังเกตได้ว่า สังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ เท่านั้นมีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก คือมีอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ ข้อ ๖๑๔๖๖๔ หน้า ๓๗๙๔๒๓ วินัยปิฎก จุลวรรค นอกนั้นไม่มีกล่าวถึง และการกล่าวถึงสังคายนาทั้ง ๒ ครั้งนี้ ไม่ได้กล่าวถึง พระไตรปิฎกใช้คำว่า ธัมมวินัยสังคีติ” (การสังคายนาพระธรรมและวินัย) แสดงว่า พระพุทธวจนะนั้นยังไม่มีการจัดแบ่งเป็นปิฎกหากเรียกรวม ๆ ว่า ธรรมวินัยเท่านั้น ต่อมาธรรมวินัยได้ขยายออกเป็น ๓ ส่วน แต่ละส่วนเรียกกันว่า ปิฎกคือธรรม ขยายเป็น สุตตันตปิฎก กับอภิธรรมปิฎก ส่วนวินัยคงเป็นวินัยปิฎก”  
       เสฐียรพงษ์ วรรณปก (๒๕๔๓ :๑๐-๑๑) ได้สรุปเกี่ยวกับการจัดรูปแบบและประเภทของพระพุทธวจนะหรือพระธรรมวินัยดังกล่าว ดังต่อไปนี้
       ในศิลาจารึกที่ค้นพบที่สาญจิสถูป (ซึ่งจารึกไว้ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๓ ก่อนสมัยพระเจ้าอโศก) มีรายนามผู้สร้างส่วนต่าง ๆ ของพระสถูปปรากฎอยู่ พร้อมกับคุณศัพท์แสดงคุณสมบัติของบุคคลนั้น ๆ เช่น
ธมฺมกถิกา
เปฏกินฺ
สุตฺตนฺติกา
สุตฺตนฺติน
ปิจฺเนกายิกา
ผู้กล่าวธรรมทั้งหลาย
ผู้ทรงจำปิฎกทั้งหลาย
ผู้ทรงจำพระสูตร
สตรีผู้ทรงจำพระสูตร
ผู้ทรงจำนิกายทั้ง ๕
        
      ในศิลาจารึกพระเจ้าอโศกซึ่งถูกค้นพบที่ ภาบรา มีข้อความอ้างถึงพระสูตรต่าง ๆ ที่พระเจ้าอโศกทรงพิจารณาเห็นว่าดี และทรงแนะนำให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หมั่นสดับตรับฟังและพิจารณาใคร่ครวญเสมอ ๆ เช่น
อริยวํสานิ  
อนาคตภยานิ
มุนีคาถา
โมเยยฺยสุตฺต
อุปติสฺสปสิน
วงศ์แห่งพระอริยะ ทั้งหลาย
ภัยในอนาคตทั้งหลาย
คาถาของพระมุนี
สูตรว่าด้วยความเป็นมุนี
ปัญหาของพระอุปติสสะ

         คำแรกประกฎอยู่ในทีฆนิกาย สังคีติสูตร คำที่สองมีอยู่ในอังคุตตรานิกาย ปัญจกนิบาต คำที่สามปรากฎใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต คำที่สี่มีอยู่ทั้งใน อังคตตรนิกาย และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ คำสุดท้ายหมายถึง ปัญหาของพระสารีบุตร มีทั่วไปในพระสูตรต่าง ๆ ไม่ทราบว่าพระเจ้าอโศกทรงเจาะจงเรื่องใด
         จากหลักฐานทั้งสองแห่งนี้ กล่าวได้ว่า หลังจากสังคายนาครั้งที่สองเป็นต้นมา พระพุทธวาจนะหรือพระธรรมวินัยถูกจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ในชื่อว่า ปิฎกและ นิกายทั้งห้า”(ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย) แล้ว ระยะแห่งพัฒนาการของพระไตรปิฎกคงกินเวลายาวนานเกือบศตวรรษ กว่าจะลงตัวเป็นพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์ และเชื่อว่าพอตกถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศก พระไตรปิฎกคงสมบูรณ์ทุกคัมภีร์แล้ว ด้วยปรากฎหลักฐานบางแห่ง (อาทิ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก) บอกว่า คัมภีร์กถาวัตถุ หนึ่งในจำนวนพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ได้ถูกรจนาและผนวกเข้าไว้ในอภิธรรมปิฎก โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งที่สาม      
         เหตุผลสนับสนุนอีกประการหนึ่งคือ ในพระไตรปิฎกไม่มีข้อความใดกล่าวถึงพระเจ้าอโศกเลย แสดงว่าพระไตรปิฎกสำเร็จเป็นรูปร่างสมบูรณ์แล้วก่อนสมัยพระเจ้าอโศกซึ่งก็สอดคล้องกับทัศนะของพระเทพโสภณ(ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเมธีธรรมาภรณ์ ๒๕๓๕:๑๓๒) ที่กล่าวว่า ในการสังคายนาครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองซึ่งจัดขึ้นใน พ.ศ.๑๐๐ ยังไม่มีการแบ่งพระธรรมวินัยเป็นพระไตรปิฎกอย่างชัดเจน การจัดประเภทพระธรรมวินัย เป็นพระไตรปิฎกอย่างชัดเจน การจัดประเภทพระธรรมวินัยเป็นรุปพระไตรปิฎก มีขึ้นในการสังคายนาครั้งที่ สาม ในพ.ศ.๒๓๕ จัดขึ้น ณ เมืองปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย         
         พระไตรปิฎก ประกอบด้วยคัมภีร์สำคัญ ๓ ปิฎก คือ พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัย หรือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม และการดำเนินการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตร หรือเทศนาที่ตรัสแก่บุคคลต่าง ๆ ในเวลาและสถานที่ต่างกัน เป็นรูปคำสนทนาโต้ตอบบ้าง เป็นรูปร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง ตลอดถึงเทศนาของพระสาวกองค์สำคัญ พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยหลักธรรมต่าง ๆ ที่อธิบายในแง่วิชาการล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคล หรือเหตุการณ์ ส่วนมากเป็นคำสอนด้านจิตวิทยา และอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา (เสฐียรพงษ์ วรรณมา, ๒๕๔๓ : ๓) เนื้อความทั้งหมดของพระไตรปิฎกจัดแบ่งเป็นหมวด ๆ หรือ ขันธ์ มีจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์


ดร.ประมูล สารพันธ์       

สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ 


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น