วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระวินัย : กฎเกณฑ์และคุณค่าทางสังคม ( ตอนที่ ๒)



ความมีคุณค่าและความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย
        
ถามว่า พระวินัยมีคุณค่าและเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมอย่างไร
                ประการที่ ๑ พระวินัยคืออายุของพระพุทธศาสนา ในคราวก่อนที่จะเริ่มทำปฐมสังคายนา พระมหากัสสปะได้ปรึกษากับพระเถระผู้เข้าร่วมทำสังคายนาแล้วเห็นพ้องต้องกันว่า จะดำเนินชำระสังคายนาพระวินัยก่อน เพราะพระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนาพระวินัยจัดว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่ พระศาสนาชื่อว่ายังดำรงอยู่ ดังนั้น จึงขอสังคายนาพระวินัยก่อน

         ประการที่ ๒ พระวินัยเป็นด้ายร้อยเรียงลักษณะนิสัย/พฤติกรรมของคนไว้ในกรอบเดียวกัน
         พุทธประสงค์ในการประกาศพระศาสนา ในเชิงจริยศาสตร์สังคมมี ๒ ประการ คือ (๑) กำจัดความคิดแบ่งแยกทางสังคม (๒) กระตุ้นเตือนให้มนุษย์คำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าภายในตน พระพุทธองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาในพระพุทธศาสนาได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ถ้าประสงค์จะบวชเป็นพระภิกษุ ภิกษุณีก็บวชได้ โดยไม่จำกัดว่าจะเกิดในตระกูลใด วรรณะใด และเมื่อประสงค์จะพัฒนาตนก็มีโอกาสพัฒนาได้เต็มที่ ผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นย่อมได้รับผลแห่งการปฏิบัติ ไม่มีใครบันดาลให้ใครได้ สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญญํ วิโสธเย ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน ผู้อื่นจะให้ผู้อื่นบริสุทธิ์ไม่ได้
         ด้วยพุทธประสงค์อย่างนี้แหละ จำเป็นต้องมีพระวินัยไว้เป็นกฎเกณฑ์ควบคุมดูแล เพราะธรรมดาคนที่มาจากสังคมหลากหลาย ย่อมมีลักษณะนิสัย และพฤติกรรมต่างกันอยู่แล้ว

         ประการที่ ๓ ความมีคุณค่าและความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย ที่ชัดเจนอีกประการหนึ่ง เห็นได้จากพุทธประสงค์ ๑ ประการในการบัญญัติพระวินัย คือ (๑) เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ (๒) เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ (๓) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (๔) เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งภิกษุผู้มีศีลดีงาม (๕) เพื่อปิดกั้นอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน (๖) เพื่อบำบัดอาสวะอันจะบังเกิดในอนาคต (๗) เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส (๘) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว (๙) เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม (๑๐) เพื่อเอื้อเฟื้อพระวินัย
         วัตถุประสงค์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ กล่าวโดยสรุปคือ ข้อ (๑) ถึงข้อ (๖) เพื่อความเรียบร้อยดีงามของสังคมสงฆ์ ข้อ (๗) และข้อ (๘) เพื่อความสบายใจของสังคมคฤหัสถ์ ข้อ (๙) และข้อ(๑๐) เพื่อพระพุทธศาสนาโดยตรง
                ประเด็นนี้หมายถึง เมื่อมีพระวินัยเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ความสามัคคี ความผาสุกย่อมเกิดขึ้น สังคมมีมาตรการในการที่จะตัดสินลงโทษคนผิดชัดเจน กำจัดความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน และป้องกันความเสื่อมเสียอันจะเกิดในอนาคต ในส่วนของประชาชนคฤหัสถ์ แม้จะไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่เมื่อเห็นภาพการประพฤติดีปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ ย่อมเกิดความเลื่อมใส ส่วนผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งมีความเลื่อมใสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเห็นภาพแห่งการประพฤติดีปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ ย่อมมีความเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น อันว่าความเลื่อมใสนี่แหละทำให้จิตใจเย็นสบาย ไม่อึดอัดไม่ขัดเคือง
                ประการที่ ๔ พระวินัยสร้างหลักประกันให้บุคคลผู้ปฏิบัติทั้งในปัจจุบันและอนาคต เห็นได้จากที่พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์ ๕ ประการแห่งความเป็นผู้มีศีล คือ (๑) ได้โภคทรัพย์กองใหญ่ (๒) ชื่อเสียงดีงามขจรไป (๓) เป็นผู้องอาจในที่ประชุมชน (๔) ไม่หลงตาย คือ ตายไปอย่างมีสติ (๕) เมื่อตายไป ย่อมไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์              

                ประการที่ ๕ ความเป็นกฎเกณฑ์และความมีคุณค่าทางสังคมของพระวินัย เห็นได้จากประเด็นต่อไปนี้  
         คำว่า วินัย ในที่นี้หมายถึงศีล ๒ ส่วน คือ (๑) ศีลที่มาในพระปาติโมกข์ของภิกษุ ๒๒๗ ข้อและศีลของภิกษุณี ๓๑๑ ข้อ (๒) ศีลที่มานอกพระปาติโมกข์อีกจำนวนมาก ศีลมีอรรถะ ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานดังนี้       
         ๑.ลักษณะของศีล คือความเป็นรากฐาน        
         ๒.รสของศีล คือ กำจัดความทุศีล หรือคุณที่หาโทษมิได้
         ๓.ปัจจุปัฏฐานของศีล คือความสะอาด
         ๔.ปทัฏฐานของศีล คือ หิริและโอตตัปปะ            

          ประเด็นที่ ๑ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมที่มีรากฐานแข็งแกร่ง         
          ประเด็นที่ ๒ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมที่ไร้ทุกข์โทษ
          ประเด็นที่ ๓ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมสะอาด      
          ประเด็นที่ ๔ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมแห่งความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่ว  
          สังคมสงฆ์ในครั้งพุทธกาล มีรากฐานแข็งแกร่ง แม้จะอยู่ในท่ามกลางเจ้าลัทธิจำนวนมาก ก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ นอกจากนี้ยังไร้ทุกข์โทษ มีความสะอาด นับจากอดีตถึงปัจจุบัน

ถามว่า สังคมสงฆ์ในประเทศไทย มีคุณลักษณะเหมือนเช่นครั้งพุทธกาลหรือไม่ ?   
          คำตอบมีหลากหลายแล้วแต่มุมมอง การเปรียบเทียบสภาพสังคมต่างยุคต่างสมัยแล้วตัดสินว่า สังคมสมัยก่อนดีกว่าสมัยนี้ หรือสมัยนี้ดีกว่าสมัยก่อน มีลักษณะขาดความเที่ยงธรรมและขาดความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว เพราะแต่ละยุคมีองค์ประกอบทางสังคมไม่เหมือนกัน

ความสรุป    
สังคมต้องมีวินัย               
          วินัยแบ่งตามกลุ่มของผู้ปฏิบัติ มี ๒ อย่าง คือ      
๑. อาคาริยวินัย กรอบควบคุมวิถีชีวิต แนวทางประพฤติสำหรับคฤหัสถ์ การกล่าววาจาถึงพระรัตนตรัยว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก การสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือกุศลกรรมบถ ๑ จัดเป็นอาคาริยวินัยหรือวินัยของคฤหัสถ์ ซึ่งเมื่อชายหญิงถือปฏิบัติทั่วถึงกันแล้ว ชื่อว่าป็นมงคลสูงสุดแก่ชีวิต เพราะเป็นเหตุนำความสงบสุขมาให้ทั้งแก่ตนและแก่หมู่คณะ       
          ๒. อนาคาริยวินัย กรอบควบคุมวิถีชีวิต แนวทางประพฤติสำหรับสามเณร สามเณรี สิกขมานา พระภิกษุและภิกษุณี เช่น ศีล ๑ มีเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นข้อต้น เว้นจากการับทองและเงินเป็นข้อสุดท้าย ปาติโมกขสังวรศีล อินทริย-สังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และปัจจยสันนิสิตศีล
          พระพุทธเจ้าก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตรัสกับพระอานนท์ว่า ธรรมและวินัยที่แสดงไว้ บัญญัติไว้ จักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไป พระพุทธดำรัสนี้แสดงถึงความจริง ๒ ประการ คือ            
                ๑. ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลกหรือไม่ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ไม่ว่าพระพุทธองค์จะดำรงพระชนม์อยู่หรือเสด็จดับขันธปรินิพพานไป สังคมจำเป็นต้องมีธรรมและวินัย สังคมสงฆ์ต้องมีธรรมและวินัยของสงฆ์ สังคมฆราวาสต้องมีธรรมและวินัยของฆราวาส สังคมธุรกิจต้องมีธรรมและวินัยทางธุรกิจ นั่นคือต้องมีคำสอนเป็นแนวทางดำเนินชีวิตและมีคำสั่งหรือกฎเกณฑ์เพื่อป้องปรามความผิด เพื่อบำราบคนพาลอภิบาลคนดี            
                ๒.ธรรมและวินัยคือธรรมเก่าแก่ประจำโลก(สนันตนธรรม) โลกต้องมีศาสดาเกิดขึ้นประกาศธรรมและวินัย(คำสอนและคำสั่ง) ธรรมและวินัยมีความยั่งยืน มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการประกาศโดยศาสดาองค์ใดก็ตาม มาตรฐานที่ว่านี้คือเป็นเกณฑ์กำหนดคุณความดีของสังคม ธรรมและวินัยจึงเป็นเครื่องมือที่ประกอบด้วยคุณความดี      
                สิ่งที่เป็น คุณความดีจริง ๆ ไม่ขึ้นอยู่กับกาล(อกาลิกะ) ไม่ขึ้นอยู่กับเทศะ(อเทสิกะ) ไม่ขึ้นอยู่กับลัทธิ(อลัทธิกะ) ธรรมและวินัยจึงเป็นสมบัติประจำโลก และโลกจำเป็นต้องมี สังคมที่ไม่มีธรรม ไม่มีวินัย ไม่ใช่หมายถึงว่าธรรมและวินัยหายไป แต่เป็นเพราะว่าสังคมไม่ยึดถือปฏิบัติ อาจเป็นเพราะ (๑) ไม่มีคนประกาศเผยแผ่ (๒) ไม่มีผู้ปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น องค์ประกอบจำเป็นในการสร้างสังคมแห่งธรรมและวินัยมี ๒ อย่าง คือ (๑) การประกาศเผยแผ่ธรรมและวินัย (๒) การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง 
          วินัยเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพของสมาคม ชมรม องค์กรต่าง ๆ สถาบันการศึกษาใดมีระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับรัดกุมชัดเจน ย่อมเป็นที่เชื่อถือในวงวิชาการ สถาบันการเงินใดมีระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อคับรัดกุมชัดเจน ย่อมเป็นที่เชื่อถือในวงการธุรกิจ
                วินัยเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุธรรมทั้งในระดับโลกิยะและโลกุตตระ วินัยระดับศีล ๕ ถือเป็นพื้นฐานของสังคมชาวบ้านซึ่งแม้แต่พระภิกษุ จะรักษาศีล ๒๒๗ ข้อให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ก็ต้องอาศัยศีล ๕ เป็นฐาน จุดหมายสูงสุดแห่งการบำเพ็ญธรรมคือความหลุดพ้นจากกิเลสโดยเด็ดขาด จุดเริ่มต้นของเส้นทางไปสู่ความหลุดพ้นคือ วินัย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์ปริวารว่า
          วินัยย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ความสำรวม       
ความสำรวมมีเพื่อประโยชน์แก่ความไม่เดือดร้อน          
ความไม่เดือดร้อนมีเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์    
ความปราโมทย์มีเพื่อประโยชน์แก่ความอิ่มใจ  
ความอิ่มใจมีเพื่อประโยชน์แก่ความสงบ
ความสงบมีเพื่อประโยชน์แก่ความตั้งใจมั่น    
ความตั้งใจมั่นมีเพื่อประโยชน์แก่ความรู้เห็นตามเป็นจริง            
ความรู้เห็นตามเป็นจริงมีเพื่อประโยชน์แก่ความเบื่อหน่าย
ความเบื่อหน่ายมีเพื่อประโยชน์แก่ความสำรอกกิเลส    
ความสำรอกกิเลสมีเพื่อประโยชน์แก่ความหลุดพ้น        
ความหลุดพ้นมีเพื่อประโยชน์แก่ความรู้เห็นความหลุดพ้น          
ความรู้เห็นความหลุดพ้นมีเพื่อประโยชน์ แก่ความดับสนิทหาเชื้อมิได้   
ในมงคลสูตร มีข้อความตอนหนึ่งว่า วินโย จ สุสิกฺขิโต วินัยที่ศึกษาดีแล้ว สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิม ธมฺมธโร) อธิบายความตอนนี้ว่า   
เมื่อคฤหัสถ์และบรรพชิตปฏิบัติวินัยถูกต้องแล้ว ชื่อว่าได้ศึกษาวินัยมาดี เป็นผู้มีระเบียบอันดีงาม ประพฤติสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ชวนให้หมู่คณะศรัทธาเลื่อมใส ร่วมกันจรรโลงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เป็นคุณประโยชน์แก่ชาวโลก มีชีวิตเจริญด้วยคุณธรรม ก้าวหน้าไปโดยลำดับ นับว่าห่างไกลจากเวรภัย ปราศจากโทษทุกข์ทั้งในภพนี้และภพหน้า    
เรื่อง มงคล ถกเถียงกันมากในครั้งพุทธกาล กลุ่มทิฏฐมังคลิกบอกว่า รูปที่เห็นแล้วเป็นมงคล     
กลุ่มสุตมังคลิกบอกว่า เสียงที่ฟังแล้วเป็นมงคล 
กลุ่มมุตมังคลิกบอกว่า อารมณ์ที่ทราบแล้วเป็นมงคล
การเถียงกันเฉพาะเรื่องมงคลนี้ดำเนินอยู่ถึง ๑๒ ปี แม้ในปัจจุบันยังมีการถือมงคลกันผิดก็มีอยู่มาก สิ่งที่เป็นมงคลในพระพุทธศาสนา มี ๓๘ เรื่อง วินัยเป็นหนึ่งใน ๓๘ นั้น นั่นคือระเบียบ ข้อบังคับ ประเพณีอันดีงามของสังคมที่ได้ศึกษาและถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ถือเป็นมงคลสูงสุด เป็นพาหนะที่จะไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในชีวิตส่วนตนและสังคม 



พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 75 – 84

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น