วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระวินัย : กฎเกณฑ์และคุณค่าทางสังคม ( ตอนที่ ๑)




ความนำ : พระพุทธเจ้าทรงปกครองสงฆ์อย่างไร ?          
         พระพุทธเจ้าทรงปกครองสงฆ์โดยเครื่องมือคือศีล พระพุทธโฆสาจารย์ กล่าวถึงศีลไว้หลายนัย ปรากฏในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค มี ๒ อย่างโดยแบ่งเป็น
(๑) จาริตตศีล (๒) วาริตตศีล หรือ
(๑) อภิสมาจาริกศีล (๒) อาทิพรหมจริยกศีล หรือ
(๑) วิรัติศีล (๒) อวิรัติศีล หรือ
(๑) นิสิตศีล (๒) อนิสิตศีล หรือ
(๑) กาลปริยันตศีล (๒) อาปาณโกฏิศีล หรือ
(๑) สปริยันตศีล (๒) อปริยันตศีล หรือ
(๑) โลกิยศีล (๒) โลกุตตรศีล    

ศีลมี ๓ อย่างโดยแบ่งเป็น
(๑) หีนศีล (๒) มัชฌิมศีล (๓) ปณีตศีล หรือ
(๑) อัตตาธิปเตยยศีล (๒) โลกาธิปเตยยศีล (๓) ธัมมาธิปเตยยศีล หรือ
(๑) ปรามัฏฐศีล (๒) อปรามัฏฐศีล (๓) ปริปัสสัทธศีล หรือ
(๑) วิสุทธศีล (๒) อวิสุทธศีล (๓) เวมติกศีล หรือ
(๑) เสขศีล (๒) อเสขศีล (๓) เนวเสขานาเสขศีล              

ศีลมี ๔ อย่างโดยแบ่งเป็น
(๑) หานภาคิยศีล (๒) ฐิติภาคิยศีล (๓) วิเสสภาคิยศีล (๔) นิพเพธภาคิยศีล หรือ
(๑) ภิกขุศีล (๒) ภิกขุนีศีล (๓) อนุปสัมปันนศีล (๔) คหัฏฐศีล หรือ
(๑) ปกติศีล (๒) อาจารศีล (๓) ธัมมตาศีล (๔) ปุพพเหตุกศีล หรือ
(๑) ปาติโมกขสังวรศีล (๒) อินทริยสังวรศีล (๓) อาชีว-ปาริสุทธิศีล (๔) ปัจจยสันนิสิตศีล

ศีลมี ๕ อย่างโดยแบ่งเป็น
(๑) ปริยันตปาริสุทธิศีล (๒) อปริยันต-ปาริสุทธิศีล (๓) ปริปุณณปาริสุทธิศีล (๔) อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล (๕) ปฏิปัสสัทธิ-ปาริสุทธิศีล หรือ
(๑) ปหานศีล (๒) เวรมณีศีล (๓) เจตนาศีล (๔) สังวรศีล (๕) อวีติกมศีล            

ป.ธ.๙, พธ.ม., Ph.D.(Buddhist Studies) คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บรรณกร พระวินัยปิฎกและบรรณาธิการการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬา-ลงกรณราชวิทยาลัย          
         ทั้งหมดนี้คือประเภทแห่งศีล ซึ่งแต่ละอย่างมีนัยที่ควรศึกษาอีกมาก แต่จะไม่กล่าวไว้ในที่นี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค แปล ภาค ๑ ตอน ๑            
         ประเด็นที่น่าสนใจและควรศึกษาในที่นี้ คือ (๑) จาริตตศีล (๒) วาริตตศีล คำว่า จาริตตศีล คือประพฤติตามสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า นี่ควรทำ ส่วนวาริตตศีล คือไม่ประพฤติล่วงละเมิดข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ว่า นี่ไม่ควรทำ พระพุทธเจ้าทรงใช้จาริตตศีลและวาริตตศีล เป็นเครื่องมือในการปกครองสงฆ์ในตอนต้นพุทธกาล โดยเฉพาะจาริตตศีล พระภิกษุประพฤติตามพระพุทธองค์ พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าเป็นมาตรฐาน เป็นแบบอย่างที่ดีงาม ภิกษุสงฆ์สามารถยึดเป็นแนวปฏิบัติเพื่อความดีงามอยู่แล้วพระพุทธเจ้าทรงอยู่ในฐานะเป็นผู้บอก(อักขาตา)ทางที่ควรและไม่ควร ถ้าเป็นทางที่ควรจะทรงชี้ว่า นี่ควรเดิน ถ้าไม่ควรจะทรงชี้ว่า นี่ไม่ควรเดิน  
                เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้น เครื่องมือในการปกครองสงฆ์ไม่ว่าจะเรียกว่า ศีล หรือ สิกขาบท หรือ ปาติโมกข์ จึงอยู่ในลักษณะเป็น จาริตตะ และ วาริตตะ วิเคราะห์ได้ว่า สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ทำหรือห้ามไม่ให้ทำอาจมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว หรือยังไม่เกิดก็ได้ เห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะกรณีศีลที่มานอกพระปาติโมกข์ เช่น ในกรณีที่มียุงมาก ทรงอนุญาตให้ใช้มุ้ง หรือในกรณีซึ่งสถานที่จงกรมต่ำ ทรงอนุญาตให้ถมพื้นที่ให้สูงขึ้นเพื่อไม่ให้น้ำท่วม ในกรณีที่มีคนนำของหอม ดอกไม้มาถวายภิกษุ ทรงอนุญาตให้รับของหอมแล้วเจิมไว้ที่บานประตูหน้าต่าง รับดอกไม้แล้ววางไว้ที่ด้านหนึ่งในวิหาร เป็นต้น โอวาทปาติโมกข์ และอาณาปาติโมกข์ 
       ประเด็นที่น่าศึกษาต่อมาคือ ปาติโมกขสังวรศีล หมายถึงศีลที่เป็นสิกขาบท ที่ชื่อว่า ปาติโมกข์ เพราะทำบุคคลผู้รักษาศีลให้รอด ให้พ้นจากทุกข์ในอบาย เป็นต้น ในที่นี้น่าจะหมายเอาสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแก่ภิกษุสงฆ์               
      พระปาติโมกข์มี ๒ ประการ คือ (๑) โอวาทปาติโมกข์ (๒) อาณาปาติโมกข์ คำว่า โอวาทปาติโมกข์ หมายถึงข้อบังคับที่มีลักษณะเป็นคำสั่งและคำสอน มี ๓ ตอน คือ             
        ตอนที่ ๑
     ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวนิพพานว่ายอดเยี่ยม ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
        ตอนที่ ๒
   ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความทำกุศลให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย               
       ตอนที่ ๓                
    (๑) ความไม่กล่าวให้ร้าย (๒) ความไม่ทำร้าย (๓) ความสำรวมในพระปาติโมกข์ (๔) ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร (๕) ที่นั่งที่นอนสงัด (๖) ความประกอบเอื้อเฟื้อในอธิจิต นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย        
                พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีโอวาทปาติโมกข์ ๓ ตอนนี้เหมือนกัน และทุกพระองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ด้วยพระองค์เอง ในโอกาสอันควร เช่น พระพุทธเจ้าวิปัสสีทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ๖ เดือนต่อหนึ่งครั้งส่วน อาณาปาติโมกข์ หมายถึงข้อบังคับที่เป็นบทบัญญัติอย่างชัดเจน สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ทั้งหมดทั้งของภิกษุสงฆ์และของภิกษุณีสงฆ์ แม้บทบัญญัติบางอย่างที่มีบทกำหนดโทษไว้ชัดเจนก็อนุโลมเข้าในอาณาปาติโมกข์ด้วย เมื่อมีการบัญญัติสิกขาบทชัดเจน พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะทรงหยุดแสดงโอวาทปาติโมกข์ ทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์แสดงเฉพาะอาณาปาติโมกข์ ความจริง สาเหตุที่ไม่ทรงแสดงปาติโมกข์ด้วยพระองค์เองหลังจากที่ทรงบัญญัติสิกขาบทแล้วนั้น ไม่ได้หมายถึงจะทรงมอบภาระให้ภิกษุสงฆ์รับผิดชอบ แต่ทรงคำนึงความสำคัญและความบริสุทธิ์แห่งโอวาทปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าทรงกระทำอุโบสถ ยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงเฉพาะในที่ประชุมสงฆ์บริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อภิกษุมีจำนวนมากขึ้น เป็นการยากที่จะมีเฉพาะผู้บริสุทธิ์ทั้งหมดในที่ประชุมสงฆ์ จึงทรงผ่อนคลายให้ภิกษุสงฆ์กระทำอุโบสถและยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดง       
         ข้อความในพระวินัยปิฎกมหาวิภังค์ เล่ม ๑ ไม่ได้ระบุไว้โดยชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทในพรรษาที่เท่าไร แต่พอสรุปความได้ว่า พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทหลังจากพรรษาที่ ๑๒ ไปแล้ว แต่ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยกล่าวไว้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ ในพรรษาที่ ๒ เท่าที่ทราบมา ในปฐมโพธิกาล ภิกษุทั้งหลายรักษาพระหฤทัย (ของพระพุทธองค์)ให้ทรงยินดีตลอด ๒ ปี มิได้ทำการล่วงละเมิด ... คราวนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อไม่ทรงเห็นการล่วงละเมิดของภิกษุทั้งหลาย จึงมิได้ทรงบัญญัติปาราชิกหรือสังฆาทิเสส               
         พระผู้มีพระภาคแม้ของพวกเรา(พระสิทธัตถโคดม) ก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นี้ตลอดเวลาเพียง ๒ พรรษา ในปฐมโพธิกาลเท่านั้น      
                นี้เป็นหลักฐานในระดับอรรถกถา สามารถเชื่อถือได้ในระดับอรรถกถาในประเด็นนี้ มีคำถามว่า จริงหรือที่ว่าตั้งแต่พรรษาที่ ๑ ถึงพรรษาที่ ๒ พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติกฎเกณฑ์อะไรเลย ?      
         คำถามนี้มีคำตอบชัดเจนแล้วในสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยนี่แหละ ข้อความปรากฏดังนี้ ...แต่ได้ทรงบัญญัติกองอาบัติเล็กน้อย ที่เหลือไว้เพียง ๕ กองเท่านั้น ในเพราะเรื่องนั้น ๆ นั่นคือว่า ทรงบัญญัติสิกขาบทบ้างเหมือนกัน แต่เป็นการบัญญัติสิกขาบทเล็กน้อย และบัญญัติเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี             
         พระวินัยในปฐมโพธิกาลจึงอยู่ในลักษณะจาริตตศีล และวาริตตศีล คำว่า ศีล หมายถึง ศีลนะ คือเป็นมูลราก มี ๒ นัย คือ (๑) รวมกายกรรมเป็นต้นไว้ไม่ให้กระจัดกระจายไป (๒) รองรับกุศลธรรมทั้งหลาย        



พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 75 – 84

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น